วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

สำรวจเเละศึกษาธรรมชาติเขาคอหงส์ พ.ศ.2554

สำรวจป่า 1/2554 (ประชาคมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเขาคอหงส์)



โครงการสำรวจและศึกษาธรรมชาติเขาคอหงส์ ( กำลังดำเนินการ) ชื่อแผนงาน สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเขาคอหงส์ ชื่อโครงการ โครงการสำรวจและศึกษาธรรมชาติเขาคอหงส์ หลักการและเหตุผล เนื่องจากปัจจุบันปัญหาด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบถึงการดำรงชีวิตของประชาชนทั่วโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม ในส่วนของปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้ก็อยู่ในขั้นวิกฤต เพราะฉะนั้นแนวทางการแก้ปัญหาได้แก่ การป้องกันรักษาทรัพยากรป่าไม้ที่เหลืออยู่ และการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ที่เสื่อมโทรม เพื่อที่จะส่งผลให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้แนวทางของการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องระดมการมีส่วนร่วม ทั้งแรงกายแรงใจจากทุกฝ่าย ทั้งประชาชน องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการ กลุ่ม/ชมรม และองค์กรต่างๆเพื่อร่วมกันระดมความคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเขาคอหงส์ เขาคอหงส์เป็นป่าผืนสุดท้ายและใกล้เมืองหาดใหญ่มากที่สุด มีความสำคัญต่อชุมชนบริเวณโดยรอบและชุมชนหาดใหญ่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ซับน้ำและเป็นแหล่งต้นน้ำ เป็นแหล่งผลิตอากาศบริสุทธิ์และเป็นพื้นที่ ที่มีความหลากหลายของพันธุ์สัตว์และพันธุ์พืช ซึ่งนับว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีคุณค่ายิ่งสำหรับการอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของสังคม ด้วยทาง ประชาคมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเขาคอหงส์ ได้มีการสำรวจศึกษาธรรมชาติพื้นที่เขาคอหงส์ ในระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา พบว่าธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตบางอย่างหายไปและบางอย่างก็ลดลง ซึ่งนั่นหมายความว่าจะต้องส่งผลกระทบถึงการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตามลำดับต่อไปด้วย เนื่องจากระบบนิเวศทางธรรมชาติของเขาคอหงส์ ที่ยังมีคงเหลือความอุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์พืชและสัตว์เหมาะสมที่จะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของเยาวชน เพราะเป็นพื้นที่ที่ไม่ใหญ่มากนัก เพื่อที่เยาวชนจะได้สัมผัสถึงระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตในป่าไม้ที่แท้จริงรวมถึงพันธุ์ไม้ต่างๆและสมุนไพรต่างๆที่เป็นยารักษาโรค ดังนั้นการจัดโครงการสำรวจศึกษาธรรมชาติเขาคอหงส์ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยในส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเขาคอหงส์ให้คงความอุดมสมบูรณ์ได้ วัตถุประสงค์ ๑. เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเขาคอหงส์ ๒.เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ความหลากหลายทางธรรมชาติ ๓. เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ๔.เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป้าหมาย -ประชาคมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเขาคอหงส์ ๑๐ คนและวิทยากรท้องถิ่น ๓ คน ร่วมสำรวจ และจัดทำแหล่งเรียนรู้ ๑๒ จุด เดือนละ ๑ ครั้ง เป็นเวลา ๖ เดือน - ประชาคมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเขาคอหงส์ ๑๐ คนและวิทยากรท้องถิ่น ๓ คน นำนักเรียน ๓๐ คน ร่วมสำรวจและศึกษาแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติเขาคอหงส์ เดือนละครั้ง เป็นเวลา ๖ เดือน (นักเรียนทั้งหมด ๑๘๐ คน) ตัวชี้วัด ๑.จำนวนผู้ร่วมสำรวจและจัดทำแหล่งเรียนรู้ป่าต้นน้ำเขาคอหงส์ ๒.จำนวนนักเรียนที่ร่วมศึกษาแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติเขาคอหงส์ ๓.จำนวนต้นไม้ที่ปลูก ๔.การสรุปเนื้อหาความรู้ที่ได้จากการสำรวจของนักเรียน วัน เวลา สถานที่ วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน เวลา ๐๙.๐๐ น.-๑๖,๐๐ น. สำรวจและจัดทำแหล่งเรียนรู้เขาคอหงส์ วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม เวลา ๐๙.๐๐ น.-๑๖,๐๐ น. นำนักเรียนศึกษาและสำรวจแหล่งเรียนรู้เขาคอหงส์ กิจกรรม ๑.กิจกรรมสำรวจและจัดทำแหล่งเรียนรู้ - สำรวจพันธุ์สัตว์บก พร้อมถ่ายรูป - สำรวจพันธุ์สัตว์น้ำ พร้อมถ่ายรูป - สำรวจพืชสมุนไพร พร้อมถ่ายรูป - สำรวจพันธุ์ไม้ใหญ่ พร้อมถ่ายรูป - สำรวจต้นน้ำ พร้อมถ่ายรูป - สำรวจจุดชมทิวทัศน์ พร้อมถ่ายรูป - นำข้อมูลจากการสำรวจมาศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ - จัดทำป้ายข้อมูลของแหล่งเรียนรู้ต่างๆ - ติดตั้งป้ายแหล่งเรียนรู้ หมายเหตุ;กิจกรรมนี้จะดำเนินการตลอดระยะเวลา ๖ เดือนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ๒.กิจกรรมนำนักเรียนไปศึกษาแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติเขาคอหงส์ - นำนักเรียน ๓๐ คนต่อเดือน รับต้นไม้คนละต้นไปปลูกบริเวณป่าชุมชน ต.ทุ่งใหญ่ - นำนักเรียน ๓๐ คนไปศึกษาตามแหล่งเรียนรู้ ๑๒ ฐาน โดยมีประชาคมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเขาคอหงส์และวิทยากรท้องถิ่นเป็นผู้ควบคุมดูแลให้ความรู้ - ให้นักเรียนสรุปเนื้อหาของแต่ละฐาน ส่งประชาคมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเขาคอหงส์ไว้ตัดสินชิงเงินรางวัลตอนเสร็จสิ้นโครงการ หมายเหตุ;กิจกรรมนี้จะดำเนินการทุกเดือนตลอดระยะเวลา ๖ เดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม ๓.สรุปกิจกรรม ตัดสินผลงานการสรุปเนื้อหาของนักเรียนที่ได้ไปศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติเขาคอหงส์ และมอบเงินรางวัล ตอนสิ้นโครงการ ระยะเวลาดำเนินโครงการ ๑ มกราคม ๒๕๕๔ ถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ งบประมาณโครงการ - ค่าประสานงาน ๑๐,๐๐๐ บาท - ค่าทำเอกสาร ๒,๐๐๐ บาท - ค่าประชาสัมพันธ์ ๕,๐๐๐ บาท - ค่าอาหารนักเรียน (๑๘๐ คน x ๑๕๐ บาท) ๒๗,๐๐๐ บาท - ค่าเงินรางวัล (ชนะเลิศ ๓,๐๐๐ บาท รองชนะเลิศ ๒,๐๐๐ บาท และ ๑,๐๐๐ บาท) ๖,๐๐๐ บาท - ค่าอาหารประชาคม ฯ (๑๐ คนx๑๒ เดือน x๑๕๐ บาท) ๑๘,๐๐๐ บาท - ค่าอาหารวิทยากร (๓ คนx ๑๒ เดือน x๑๕๐ บาท) ๕,๔๐๐ บาท - ค่าเวชภัณฑ์ ๒,๐๐๐ บาท - ค่าน้ำมันรถ ๕,๐๐๐ บาท - ค่ากล้าไม้ (๑๙๓ คนx ๒๐บาท) ๓,๘๖๐ บาท - ค่าทำป้ายแหล่งเรียนรู้ (๑๒ ฐาน x๕๐๐บาท) ๖,๐๐๐ บาท - ค่ารูปถ่าย (๑๒ ฐาน x๕๐ รูป x๕ บาท) ๓,๐๐๐ บาท - ค่าวิทยุสื่อสาร (๓ เครื่องx๗,๐๐๐ บาท) ๒๑,๐๐๐ บาท - ค่าชุดเสื้อผ้าสำรวจ (๑๐ คนx๕๐๐ บาท) ๕,๐๐๐ บาท - ค่าวิทยากรท้องถิ่น(๓ คนx๑๒ วันx๑,๐๐๐ บาท) ๓๖,๐๐๐ บาท - ค่ากล้องวีดีโอ ๑ ตัว ๒๐,๐๐๐ บาท - ค่ากล้องถ่ายรูป ๑ ตัว ๗,๐๐๐ บาท - ค่ากล้องส่องทางไกล (๓ ตัว x๕๐๐ บาท) ๑๕,๐๐๐ บาท - ค่าเข็มทิศ (๓ ตัว x๑,๐๐๐ บาท) ๓,๐๐๐ บาท - ค่าไฟฉาย (๑๕ ตัวx๒๐๐ บาท) ๓,๐๐๐ บาท - ค่าสปอร์ตไลท์ ( ๑๕ ตัว x๒๐๐ บาท) ๓,๐๐๐ บาท - ค่าเสื้อในการสำรวจนักเรียน(๑๘๐ คนx๒๐๐ บาท) ๓๖,๐๐๐ บาท - ค่าสมุด และปากกาของนักเรียน(๑๘๐ คนx๓๐ บาท) ๕,๔๐๐ บาท - ค่าเบี้ยเลี้ยงนักเรียน (๑๘๐ คนx๒๐๐ บาท) ๓๖,๐๐๐ บาท - ค่าบริการอื่นๆ ๕,๐๐๐ บาท รวม ๒๘๘,๖๖๐ บาท (ได้รับงบประมาณแค่ 150,000 บ.) แหล่งที่มาของงบประมาณ ๑.องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ๒.องค์กรภาคเอกชน ผู้รับผิดชอบโครงการ ประชาคมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเขาคอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน - องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งใหญ่ - โรงเรียนต่างๆ รอบเขาคอหงส์ - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ - องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา - องค์กรภาคเอกชน ผลที่คาดว่าจะได้รับ - เยาวชนมีจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเขาคอหงส์

5 ความคิดเห็น:

  1. วิถีแห่งการเคารพธรรมชาติ และนิทานของ "เปาะจิ" แห่งเทือกเขาบูโด เราไม่รู้ว่าท่านฤๅษีเคยอ่านมาแล้วยัง เรารู้สึกว่าเป็นแนวความคิดที่น่าสนใจและน่าจะทำได้ถ้าใครสักคนกล้าที่จะทำเป็นคนแรก ถ้าว่างท่านลองเข้าไปอ่านดูนะ ...ดอกไม้ ดอกไม้จะบาน บริสุทธิ์กล้าหาญจะบานในใจ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากๆ สำหรับแนวคิดดีๆ ตอนนี้ทางประชาคมฯก็ร่วมกับ ม.สงขลานครินทร์ ในการวิจัยส่งเสริมการปลูกไม้ในป่ายาง ซึ่งได้ทดลองปลูกไปบ้างแล้ว (วันที่ 19/03/54 นี้ จะมีการแรลลี่ปั่นจักรยานไปเยี่ยมชมพื้นที่ปลูกไม้ในป่ายาง)ปล.อยกให้มีคนอย่างเปาะจิหลายคนจังและเราก็เป็นส่วนหนึ่งของหลายคนนั่น

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ20 มกราคม 2554 เวลา 00:31

    ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 22 ม.ค.54 เวลา 15.00 น. ประชาคมฯ ร่วมแสดงดนตรี ในกิจกรรมนิทรรศการ "วิกฤต คลองอู่ตะเภา" ณ ชั้น 5 ห้างไดอาน่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

    ตอบลบ
  4. ในโครงการนี้จะมีการเก็บบันทึกเกี่ยวกับอุณหภูมิของอากาศ และอุณหภูมิของน้ำ ในแต่ละเดือน แต่ละระดับความสูงด้วยหรือเปล่าท่าน? ถ้ามันเป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาวเราว่าน่าจะทำด้วยนะท่านเอาไว้เปรียบเทียบกับปีหน้า แล้วฝายแม้วล่ะท่านมันน่าทำนะท่านพาเด็กๆไปทำร่วมกัน

    ตอบลบ
  5. .....ขอบคุณครับสำหรับคำแนะนำ...เกี่ยวกับคลองอู่ตะเภาทางประชาคมฯเพิ่งเข้าไปมีส่วนร่วม...ในส่วนของรายละเอียดยังไม่ทราบอะไรมาก..โอกาสหน้าจะสอบถามถึงรายละเอียดเเละกิจรรม...ในส่วนของทางประชาคมฯกิจกรรมหลักในปีหนี้ที่พอจะสละเวลาทำกิจกรรมได้ก็คือ...กิจกรรมสำรวจฯที่ได้ขึ้นไว้แล้วด้านบน...ในส่วนของกิจกกรมอื่นๆน่าจะเป็นการออกไปประชาสัมพันธ์ปลุกจิตสำนึกและเเสดงดนตรี..คาดว่าประมาณ 4-5 แห่ง เช่น มอ..ตลาดน้ำคลองแห..เปิดท้ายกรีนเวย์..ไดอาน่า..สถานสงเคราะห์เด็กบ้านสงขลา..เป็นต้น..ส่วนกิจกรรมอื่นๆ..เช่นการสร้างฝายชะลอน้ำมีการทดลองสร้างไปบ้าง(พังแล้ว)วันก่อนมีผู้ประสงค์จะนำนักเรียนโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยมาร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์หรือจิตสาธารณะอะไรทำนองนั้น..แต่ก็เห็นเงียบไป..ก็ไม่เป็นไร...นะท่านนะ...ทางประชาคมฯก็ไม่ใช่ว่าจะมีคุณภาพหรือมาตรฐานอะไรมากมาย..แต่ก็อยากจะร่วมกันสร้างสรรค์เรื่องที่มันป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเผื่อว่าสังคมมันจะดีขึ้นบ้าง...ต้องยอมรับว่าในบางครั้งท้อแท้มาก...แต่มันเป็นยังไงไม่ทราบ...รู้แต่ว่าต้องทำ...เพื่อ?นั้นหรือ...อุดมการณ์มั้ง...ไม่รู้สิ..รู้แต่ว่ามันทำให้ข้างในของเราปราณีตขึ้น...แล้วท่านละ?

    ตอบลบ